เจาะลึกแนวคิดองค์กรในรูปแบบราชการ (Bureaucracy) ของ Max Weber
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ Max Weber กันก่อนว่าเขาคือใคร สำหรับ Max Weber นั้นก็คือ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักสังคมวิทยา เป็นคนเยอรมัน เราถือว่า Max Weber เป็นผู้ก่อตั้ง วิชาสังคมวิทยาสมัยใหม่และรัฐประศาสนศาสตร์ Max Weber เกิดที่ แอร์ฟวร์ท ราชอาณาจักรปรัสเซีย พ่อของเขาชื่อ มัคส์ เวเบอร์ เป็นนักการเมืองและข้าราชการท้องถิ่น พ่อของเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อผลงานของเขาซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองนั่นเอง Max Weber ได้เข้าเรียนกฎหมายที่ มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค
Max Weber เสนอแนวคิดที่ว่าควรจัดการองค์กรในรูปแบบราชการ (Bureaucracy) ที่มองว่าควรมีการใช้อำนาจตามกฎหมาย (Legal Domination) ซึ่งมองว่าเป็นอำนาจที่มีความสมเหตุสมผลและชอบธรรมมากกว่าอำนาจอย่างอื่นอย่างอำนาจตามประเพณี (traditional Domination) หรืออำนาจจากบารมีเฉพาะตัว (Charisma Domination)
Max Weber ได้เสนอแนวคิดระบบราชการ (bureaucracy) ประกอบด้วยองค์ประกอบ 7 ข้อ
1. หลักลำดับขั้น(Hierarchy)
2. หลักความรับผิดชอบ (Responsibility)
3. หลักแห่งความสมเหตุสมผล (Rationality)
4. การมุ่งสู่ผลสำเร็จ (Achievement orientation)
5. หลักการทำให้เกิดความแตกต่างหรือความชำนาญเฉพาะด้าน (Specialization)
6. หลักระเบียบวินัย (Discipline)
7. ความเป็นวิชาชีพ (Professionalization)
หลักลำดับขั้น(Hierarchy)
หลักลำดับขั้น(hierarchy) ของ Max Weber นั้นเป็นการเสนอแนวคิดว่าควรมีการจัดการองค์กรให้แบ่งอำนาจการสั่งการเป็นลำดับชั้น จากบนไปสู่ล่าง เช่น
ลูกน้อง 10 คน อยู่ใต้การสั่งการผู้จัดการ 1 คน
ผู้จัดการ10 คน อยู่ใต้การสั่งการผู้จัดการกลุ่ม 1คน
ผู้จัดการกลุ่ม 10 คนอยู่ใต้การสั่งการรองผู้บริหาร 1คน
รองผู้บริหารอยู่ใต้การสั่งการของผู้บริหาร
ความสำนึกแห่งความรับผิดชอบ (Responsibility)
ความสำนึกแห่งความรับผิดชอบ (responsibility) ในแนวคิดของ Max Weber นั้นเป็นการให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรับผิดชอบหน้าที่ที่ตัวเองได้รับตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย และพร้อมให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบอยู่เสมอ
หลักแห่งความสมเหตุสมผล (Rationality)
ในการบริหารงานให้คำนึงถึงสองสิ่งนั่นก็คือ ประสิทธิภาพ (Efficiency) และ ประสิทธิผล (Effectiveness)
สำหรับคำว่าประสิทธิผล (Effectiveness) คือการที่มีการบริหารทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์การเรา ส่วนคำว่าประสิทธิภาพ (Efficiency) เป็นการที่เราสามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรหรือประสิทธิผลได้แล้ว แต่จะต้องสามารถลดปัจจัยการนำเข้า (Input) และสามารถเพิ่มปัจจัยการส่งออก (Output) ได้ ยกตัวอย่างโรงเรียนที่มีประสิทธิผล (Effectiveness) คือโรงเรียนที่สามารถทำให้เด็กจบการศึกษาได้ สำหรับโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency) จะหมายถึงโรงเรียนที่สามารถทำให้เด็กจบการศึกษาด้วยความรู้ที่ดี นั่นเอง
หลักการมุ่งสู่ผลสำเร็จ (Achievement orientation)
สิ่งสำคัญขององค์กรคือเป้าหมายขององค์กร เช่น ธนาคารกลาง มีหน้าที่เป็นนายธนาคารของประเทศต้องดูแลเงินในประเทศ นั่นคือเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย หากสภาวะเงินของประเทศกำลังประสบปัญหา ธนาคารกลางมีหน้าที่ต้องไปจัดการแก้ปัญหา นั่นคือเป้าหมายขององค์กร
หลักการทำให้เกิดความแตกต่างหรือความชำนาญเฉพาะด้าน (Specialization)
เป็นการแบ่งงานตามความสามารถเฉพาะ เช่น โรงพยาบาลมีหน้าที่รักษาพยาบาล กรมตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบ รวมกระทั่งการแบ่งงานตามเขต เช่นการแบ่งงานเป็นจังหวัด อบต. เทศบาลต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งตามผู้รับบริการอย่างเช่นโรงพยาบาลสงฆ์
หลักระเบียบวินัย (Discipline)
หลักระเบียบวินัย (Discipline) ของ Max Weber จะพูดถึงการที่มีการลงโทษหากทำผิดตามที่ได้ระบุไว้ รวมไปถึงการให้รางวัลแรงจูงใจต่างๆ
ความเป็นวิชาชีพ (Professionalization)
การทำงานของบุคลากรในองค์กรควรต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในด้านที่ตัวเองทำงาน รวมไปถึงการฝึกปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น มีการอบรมให้มีความเชี่ยวชาญ
จะเห็นได้ว่าแนวคิดแบบราชการ (Bureaucracy) ของ Max weber เองก็มีข้อดีเหมือนกันที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำนอกลู่นอกทางได้ แต่ด้วยบริบทใหม่ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากจึงเป็นคำถามว่าแนวคิดแบบราชการ (Bureaucracy) ยังคงใช้ได้หรือไม่?