หากพ่อเสียชีวิตก่อนที่ลูกจะคลอด ลูกที่อยู่ในครรภ์จะสามารถรับมรดกได้หรือไม่?
หากพ่อเสียชีวิตก่อนที่ลูกจะคลอด ลูกที่อยู่ในครรภ์จะสามารถรับมรดกได้หรือไม่?
ลูกที่ยังไม่คลอดจะได้รับมรดกได้หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาจาก ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1604 วรรคหนึ่งที่เขียนว่า “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ ก็ต่อเมื่อมีสภาพเป็นบุคคล หรือมีสิทธิตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”
ดังนั้นเราจะต้องพิจารณากฎหมายมาตรา 15 ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ประกอบการพิจารณาด้วย โดยกฎหมายมาตรา 15 ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ ระบุว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก” ดังนั้นหากทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาสามารถคลอดออกมาอย่างปลอดภัยก็สามารถได้รับมรดกได้ ซึ่งถ้าหากผู้เป็นพ่อเสียชีวิตลงก่อนที่ทารกจะคลอด จะมีสิทธิได้รับมรดกย้อนหลังได้ แต่หากทารกไม่สามารถอยู่รอดออกมาได้ หรือ การแท้งลูกนั่นเอง ทารกจะไม่สามารถมีสิทธิได้รับมรดกจากผู้เป็นพ่อ
นอกจากนั้น ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1604 วรรคที่สองได้ระบุว่า “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย” การระบุในมาตรา 1604 วรรคที่สองเช่นนี้ เพราะว่าตามหลักธรรมชาติแล้ว นับตั้งแต่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น จะตั้งครรภ์แล้วคลอดลูกไม่เกิน 310 วัน โดยหากคลอดภายหลัง 310 วัน จะไม่ถือว่าเป็นทายาท อาจเป็นลูกของคนอื่นที่ไม่ใช้เจ้ามรดกนั่นเอง
สรุปแล้ว ทารกในครรภ์สามารถรับมรดกได้ หากพ่อเสียชีวิตก่อนที่จะคลอด แต่ว่าจะต้องคลอดออกมามีชีวิต และคลอดภายใน 310 วัน