ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตราที่ 15 วรรคหนึ่ง “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”
สำหรับบุคคลธรรมดานั้น จะหมายถึงมนุษย์ปถุชนทั่วไป ที่มีชีวิตอยู่ โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ ไม่คำนึงฐานะการเงินดีหรือแย่กว่ามาตรฐานทางสังคม ไม่คำนึงถึงความเยาว์วัยและความชรา ในทางกฎหมายนั้นบุคคลธรรมดาจะได้รับ สิทธิ และหน้าที่
สำหรับบุคคลธรรมดาแล้วตามธรรมชาติจะกำเนิดจากการคลอดโดยมนษย์เพศหญิง ซึ่งเรียกว่าแม่ หรือมารดา โดยกฎหมายได้ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตราที่ 15 วรรคหนึ่ง ว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”
กฎหมายตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วรรคหนึ่งนั้นได้กำหนดการเริ่มต้นของบุคคลธรรมดาที่จะต้องมีองค์ประกอบด้วยกัน 2 องค์ประกอบ
องค์ประกอบแรกคือ การคลอด โดยในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตได้ระบุว่า การคลอด คือการออกจากครรภ์ โดยการคลอดตามกฎหมายนั้นจะหมายถึงการที่ทารกนั้นสามารถออกจากครรภ์มารดาได้หมดทั้งตัว โดยที่ไม่มีชิ้นส่วนอวัยยวะของทารกติดอยู่ในครรภ์ สำหรับสายสะดือนั้นไม่ถือว่าเป็นอวัยยวะทารก ไม่ได้นำมาพิจารณาในการคลอดตามกฎหมาย การคลอดนั้นในปัจจุบันมีการคลอด 2 แบบ ก็คือการคลอดแบบธรรมชาติและการคลอดแบบผ่าคลอด สำหรับกฎหมายแล้วไม่ได้มีนัยสำคัญในการระบุว่าเป็นบุคคลหรือไม่
องค์ประกอบที่สอง คือ การอยู่รอดและเป็นทารก ซึ่งเป็นสัญญาณของสิ่งมีชีวิตโดยจะถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาแล้ว ได้รับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงว่าทารกนั้นจะอยู่รอดได้เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ในทางกลับกันหากทารกนั้นเสียชีวิตในครรภ์ของมารดาจะไม่ถือว่าเป็นบุคคลธรรมดา ไม่สามารถได้รับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายได้ การมีชีวิตของทารกนั้นไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาการหายใจเสมอไป สามารถพิจารณาในการมีชีวิตวิธีอื่นๆได้เช่นกัน เช่น การส่งเสียง การเต้นของหัวใจ การขยับตัว
ดังนั้นการที่ทารกจะสามารถเป็นบุคคลธรรมดาที่ได้รับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายนั้นจะต้องเข้าองค์ประกอบทั้งสองคือ การคลอด และการอยู่รอดเป็นทารก นั่นเอง
การพิจารณาสภาพบุคคลของทารกนั้น มีความสำคัญอย่างมาก เช่น หากมีการทำร้ายร่างกายแม่ที่มีทารกอยู่ในครรภ์ หากทารกในครรภ์เสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์จะถือว่าไม่มีเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่น เนื่องจากไม่เข้าองค์ประกอบการคลอดและการอยู่รอดเป็นทารก